แต่งตัวให้ดอกไม้


มาลัยชายเดียว


วันอังคารที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2553

คติธรรมในการทำงาน

ลืมตัว


พระสี่รูปตัดสินใจเข้ากรรมฐานอย่างอุกฤษฏ์
โดยตกลงว่าจะไม่พูดกันเป็นเวลาหนึ่งเดือน
วันแรกผ่านไปด้วยดี แต่พอขึ้นวันที่สอง

เมื่อได้ยินเสียงผิดสังเกตที่กุฏิ พระรูปหนึ่งก็พูดขึ้นว่า
"เอ มีใครเข้าไปในกุฏิผมหรือเปล่า ไม่ได้ล็อกห้องไว้เสียด้วย"
พระอีกรูปหนึ่งจึงกล่าวขึ้น "ท่านนี่แย่จัง เราตกลงว่าจะไม่พูดกัน
หนึ่งเดือนไม่ใช่หรือ นี่ผ่านไปไม่ถึงสองวันท่านก็เผลอเสียแล้ว"

แล้วพระรูปที่สามก็พูดขึ้นว่า "ท่านเองก็เผลอพูดกับเขาด้วยเหมือนกัน"
แล้วพระรูปที่สี่ก็โพล่งขึ้นมาว่า "พวกท่านไม่ได้เรื่องสักคน
ดูสิ มีผมคนเดียวที่ยังไม่ได้พูดอะไรเลย"

คนเราเมื่อเพ่งโทษคนอื่นแล้ว ก็มักจะลืมมองตัวเอง
ครั้นตัวเองเผลอแล้ว ก็ยังมองไม่เห็นความผิดพลาดของตัวเองเสียอีก
กลับเห็นข้อบกพร่องของคนอื่นเต็มสองตา
ลำพังอายตนะทั้งห้า ก็คอยพาจิตจดจ่อแต่เรื่องนอกตัวอยู่แล้ว
ยิ่งถ้าจิตของเราคอยส่งออกนอกซ้ำเข้าไปอีก
เราก็ยิ่งมองไม่เห็นตัวเองเข้าไปใหญ่ โดยเฉพาะเวลาเกิดหงุดหงิดขัดเคืองใจ
จิตมีแต่คอยหาเป้าสำหรับพุ่งโทสะเข้าใส่
เพราะฉะนั้น เวลาไม่พอใจอะไรจะต้องระวังตัวเป็นพิเศษ
หาไม่แล้วเราอาจเหมือนกับคนในนิทานข้างล่างนี้

ชายคนหนึ่งเห็นชานอ้อยที่มีคนถ่มทิ้งไว้เรี่ยราดอยู่บนถนน
จึงหยิบมาเคี้ยว แน่นอนว่าย่อมไม่มีรสชาติอะไร
มีแต่ความจืดสนิท จึงโวยวายด้วยความโกรธเคืองว่า

"ใครวะ ตะกละตะกลามเสียจริง เล่นดูดน้ำตาลจนเกลี้ยงหมด"
เพียงแต่ย้อนดูตัวสักนิด ก็จะรู้ว่าใครกันแน่ที่ตะกละ

นิทานทั้งสองเรื่องบอกเราว่า ก่อนจะตำหนิติเตียนหรือด่าว่าใคร
เหลียวมาดูตัวเองเสียก่อน เพราะอาจเป็นอย่างคนที่เรากำลังจะพ่นพิษใส่ก็ได้
พูดง่าย ๆ คือ "ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น